The failure of income distribution’s equality 1 : Inflation

สาเหตุความล้มเหลวของการกระจายรายได้ : เงินเฟ้อ 

.

ตั้งแต่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเริ่มต้นขึ้น คำว่า ‘เงินเฟ้อ’ ก็กลายมาเป็นหนึ่งตัวชี้วัดการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่เห็นกันอย่างชัดเจนคือ ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้เงินเฟ้อเป็นหนึ่งปัจจัยในการเริ่มขึ้นดอกเบี้ย เป็นปัจจัยที่จะตัดสินว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกานั้นอยู่ในสถานะที่กำลังฟื้นตัวแล้วหรือยัง 

.

อย่างไรก็ตาม การคำนวนอัตราเงินเฟ้อที่หน่วยงานรัฐใช้นั้น อ้างอิงจากค่า CPI  (Consumer Price Index) เป็นหลัก หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นค่าที่ใช้วัดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนทั่วไป เช่น อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น โดยทั่วไปแล้ว บนความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ เงินเฟ้อคือตัวเลขที่บ่งบอกถึงราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ยิ่งราคาสินค้าราคาสูงขึ้นมากเท่าไหร่ นั่นยิ่งแสดงถึงอัตราเงินเฟ้อที่สูงมากขึ้นเท่านั้น 

.

ความหมายที่แท้จริงของเงินเฟ้อ

.

สำหรับความหมายทั่วๆ ไป เงินเฟ้อคือการที่สินค้ามีราคาแพงขึ้น แต่ถ้าพิจารณาดูให้ดี การที่สินค้าและบริการมีราคาแพงขึ้นทุกปี มันแปลว่า เงินจำนวนเท่าเดิมที่เราถืออยู่ในมือปีนี้ ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าในจำนวนเท่าเดิมบนคุณภาพเดิมในปีต่อไปได้อีกแล้ว หรือพูดให้ง่ายขึ้นก็คือ เงินที่เราทำมาหาได้มาอย่างยากลำบากนั้น มันเสื่อมมูลค่าลงไปในทุกๆ ปี นี่เป็นสาเหตุสำคัญว่าทำไมการออมเงินในธนาคารจึงกลายเป็นความเสี่ยง นั่นเป็นเพราะเงินสามารถเสื่อมมูลค่าได้ผ่านกระบวนการสำคัญที่เรียกว่า ‘เงินเฟ้อ’ นั่นเอง 

.

เงินเฟ้อเกิดจากอะไร

.

หลายคนอาจสงสัยว่าอยู่ดีๆ ทำไมในโลกนี้ถึงมีเงินเฟ้อเกิดขึ้นมาได้ ทำไมข้าวของเครื่องใช้ ข้าวปลาอาหารถึงต้องมีราคาที่สูงขึ้นในทุกๆ ปี คำตอบนั้นอันที่จริงมันง่ายมาก สาเหตุของเงินเฟ้อเกิดมาจาก Supply หรือ ปริมาณเงิน ที่พิมพ์เข้ามาในระบบนั้นมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  เมื่อเงินถูกพิมพ์เข้ามาในระบบมากขึ้น เงินในระบบเศรษฐกิจจึงมีมากขึ้น และเงินเหล่านี้ก็ถูกแจกจ่ายไปยังหน่วยย่อยต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ เช่น ธนาคารมีการส่งเสริมการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ ภาคธุรกิจขยายตัวและมีการจ้างงานมากขึ้น เป็นต้น

.

เมื่อเงินมากขึ้น จึงมีความต้องการซื้อที่มากขึ้น เมื่อความต้องการซื้อถูกผลักดันไปข้างหน้า แต่สินค้าที่มีขายมีจำนวนจำกัด ทำให้ราคาสินค้าบริการมีการปรับราคาสูงขึ้น ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า หากปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น จะทำให้ตัวเลขการเจริญเติบโต หรือ GDP ประเทศเพิ่มสูงขึ้น และพลอยทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งมองเผินๆ คนในระบบจะรู้สึกดีเพราะมีเงินใช้จ่ายคล่องมือ แต่หากมองให้ลึกแล้ว ก็จะพบว่ายิ่งใช้จ่ายได้คล่องมือเท่าไหร่ สุดท้ายจะไม่สามารถมีเงินเก็บได้เลยเพราะค่าครองชีพนั้นสูงขึ้นแข่งกับเงินเดือนที่ได้รับในทุกๆ ปี เช่นกัน 

.

แล้วเงินเฟ้อมีผลดีต่อใคร ??

.

การที่มีปริมาณเงินในระบบมาก ส่งผลกระทบโดยต่อการขยายตัวของภาคธุรกิจ เมื่อคนมีเงินใช้จ่ายเยอะ ย่อมต้องมองหาสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ภาคธุรกิจเมื่อขยายตัวมากขึ้นก็ส่งผลให้บริษัทสามารถทำกำไรได้มากขึ้น ผู้ประกอบการเองก็มีมากขึ้นจากตลาดที่คึกคักบน ‘easy money’  ซึ่งธนาคารเองก็พร้อมจะให้สินเชื่อ และฟากผู้ประกอบการเองก็พร้อมที่จะลงทุนเพราะฟากผู้บริโภคมีความเต็มใจที่จะใช้จ่ายเงินในระบบที่มีสภาพคล่องเต็มไปหมด

.

เพราะเหตุนี้ เมื่อบริษัทเติบโต ตลาดหุ้นก็ย่อมต้องเติบโตขึ้นตามบริษัท อสังหาริมทรัพย์เองก็มีราคาสูงขึ้นเพราะมีทั้งผู้บริโภคที่ต้องการบ้านเพื่ออยู่อาศัย มีภาครัฐบาลที่ลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน มีภาคธุรกิจที่ต้องลงทุนซื้อที่ดินก่อสร้างบริษัท โรงงาน ในขณะเดียวกัน ฟากนักลงทุนที่มีเงินในมือก็เข้ามาเก็งกำไรในราคาสินทรัพย์ต่างๆ ทั้งหมดนั้นขับดันให้สิ่งที่เรียกว่า ‘ทรัพย์สิน – Asset’ มีราคาเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาหุ้นหรือราคาทีดินก็ตาม และราคาทรัพย์สินเหล่านี้ก็มีแนวโน้มที่จะราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ เช่น ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 1-2% แต่ราคาที่ดินนั้นกลับสูงขึ้นทุกปี ปีละประมาณ 10-15% แล้วแต่พื้นที่ 

.

ไม่ต้องพูดถึงราคาหุ้นว่าตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ซึ่งเป็นนโยบายเพิ่มปริมาณเงินในระบบในปี 2008 ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มสูงขึ้นจากราวๆ 400 จุด มาจนถึงจุดสูงสุดที่ประมาณ 1800 จุด ภายในระยะเวลาประมาณ 10 ปี หรือประมาณอย่างง่ายๆ คือตลาดหุ้นบ้านเราเติบโตเฉลี่ย 30 – 40% ต่อปีเลยทีเดียว

.

เพราะเหตุนี้ หากถามว่าการสร้างเงินเฟ้อด้วยการเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบใครเป็นผู้ได้ประโยชน์​ คำตอบก็ค่อนข้างเห็นได้ชัดว่าคือคนที่ถือ ‘สินทรัพย์’ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี อย่างแน่นอนที่สุด   

.

ใครสูญเสียผลประโยชน์จากเงินเฟ้อ ??

.

คำถามนี้ก็ตอบได้ไม่ยากเช่นกัน ผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์จากเงินเฟ้อย่อมเป็นผู้ที่ใช้ ‘ประโยชน์’ จากเงินเฟ้อไม่ได้ หรือก็คือคนที่ถือ ‘เงินสด’ เก็บเอาไว้ในธนาคารนั่นเอง อย่างที่กล่าวในตอนต้นว่า เงินเฟ้อคือกระบวนการลดมูลค่าของเงินลง ในเมื่อนโยบายรัฐบาลในทุกๆ ประเทศคือการสร้างเงินเฟ้อ นั่นย่อมหมายความว่าผู้ที่เก็บเงินสดคือผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์ นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมคนเราจึงควรต้องมีความรู้ทางด้านการจัดการทางการเงิน เพราะหากปราศจากความรู้ทางการเงินแล้ว ก็จะไม่สามารถเปลี่ยนเงินสดที่เสื่อมมูลค่าลง ให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่เพิ่มมูลค่าขึ้นได้ เพราะการเปลี่ยนเงินให้เป็นสินทรัพย์นั้น ก็จำเป็นจะต้องมีความรู้ทางด้านการบริหารทางการเงินเช่นเดียวกัน เพราะการลงทุนทุกประเภทย่อมมีความเสี่ยงซ่อนเร้นอยู่ หากไม่มีความรู้ ความผิดพลาดยามลงทุนก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

.

ดังนั้น ผู้เสียผลประโยชน์จากเงินเฟ้อย่อมเป็นผู้ไร้ความรู้ทางการเงิน ในขณะที่ผู้ได้รับผลประโยชน์จากเงินเฟ้อคือผู้ที่มีความรู้ทางการเงินนั่นเอง 

.

เงินเฟ้อกับการความล้มเหลวในการกระจายรายได้

.

เงินเฟ้อเป็นปัจจัยหนึ่ง (แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียว) ที่ทำให้การกระจายรายได้ในประเทศทุนนิยมล้มเหลว ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น คนรวยมีอยู่เพียง 1% ในขณะที่คนจนมีอยู่ถึง 99% และความแตกต่างทางรายได้ระหว่างคนรวยและคนจนก็แตกต่างจนวัดค่าไม่ได้ 

.

คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมประเทศทุนนิยมที่อาศัยการพิมพ์เงินเข้าระบบเพื่อสร้างเงินเฟ้อถึงล้มเหลวในการกระจายรายได้ภายในประเทศได้ นั่นเป็นเพราะหัวใจของการกระจายรายได้คือการที่คนภายในประเทศมีความสามารถในการทำรายได้อย่างเท่าเทียม แต่เพราะการมีอยู่ของเงินเฟ้อ ทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศ​ซึ่งเป็นผู้ที่ออมเงินสดในระบบ ต้องสูญเสียความมั่งคั่งลงไปทุกปี มีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ผิดกับฟากของคนส่วนน้อยที่มีความสามารถในการลงทุนผ่านการซื้อสินทรัพย์และทำธุรกิจ คนเหล่านี้มีความสามารถในการสร้างรายได้บนสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี 

.

ดังนั้น เมื่อคนส่วนมากไม่อาจสร้างรายได้บนสินทรัพย์ได้ แต่กลับเป็นคนส่วนน้อยที่เข้าใจการสร้างรายได้บนสินทรัพย์ จึงทำให้ความรายได้ของคนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจำกัด ในขณะที่คนส่วนน้อยสามารถเพิ่มรายได้จากทรัพย์สินที่มีได้มหาศาล และบนระบบการเงินที่ออกแบบให้ข้าวข้องเครื่องใช้ต้องแพงขึ้นในทุกๆ ปี ผลลัพท์ก็คือความสามารถในการสร้างรายได้ของคนในประเทศมีการกระจายตัวที่ไม่เท่ากัน คนที่จนมีแนวโน้มจนลงเพราะมีรายได้ที่เติบโตแพ้รายจ่ายที่ต้องจ่าย ในขณะที่คนรวยรวยขึ้นบนการเจริญเติบโตของมูลค่าสินทรัพย์ที่พวกเขาลงทุน 

.

บางคนอาจเถียงว่าเงินเฟ้อในแต่ละปีเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในขณะที่บริษัทเพิ่มเงินเดือนให้ 5-10% ในทุกๆ ปี แปลว่ารายได้ควรจะชนะรายจ่ายสิ ประโยคนี้จะเป็นจริงก็ต่อเมื่อคนเราใช้จ่ายเงินเฉพาะในส่วนของค่าครองชีพพื้นฐานเท่านั้น แต่เมื่อใดก็ตามที่เริ่มมีความจำเป็นในการซื้อบ้าน ประโยคนี้จะเป็นเท็จไปในทันที เพราะค่าใช้จ่ายจากการผ่อนบ้าน ดอกเบี้ย รวมถึงค่าใช้จ่ายที่มาพร้อมกับบ้านหลังนั้น เช่นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต และอีกสารพัดรายจ่าย นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมอัตราเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์คำนวนไม่สามารถนำมาอ้างอิงกับรายจ่ายจริงที่เกิดขึ้นได้ เพราะความเป็นจริงคือ สินค้าและบริการบางอย่างนั้นถูกขึ้นราคามากกว่าเงินเฟ้อที่ประกาศโดยกระทรวงฯ และการเป็นหนี้บนการซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือซื้อโทรศัพท์มือถือ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้รายได้ของคนทั่วไปไม่เคยเพียงพอต่อรายจ่ายเลย 

.

ดังนั้น การมีอยู่ของเงินเฟ้อจึงทำให้การกระจายรายได้และความมั่งคั่งของคนในประเทศมีความแตกต่างกัน ผู้ที่ถือเงินสดคือผู้ที่ถือความเสี่ยงเพราะเงินสดมีความสามารถในการเสื่อมมูลค่า แต่หากต้องการเลี่ยงความเสี่ยงจากการเสื่อมมูลค่าของเงิน ก็จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ด้านการเงินและการลงทุนเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงในการถือสินทรัพย์ประเภทต่างๆ โดยที่ผู้ลงทุนควรหวังผลตอบแทนที่ชนะการเติบโตในฟากค่าใช้จ่าย เพื่อให้ความมั่งคั่งของตนไม่สูญหายไปกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี นั่นเอง 

.

Mei 

Leave a comment